กำเนิดธรรมยุติกนิกาย

     กำเนิดธรรมยุติกนิกาย คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายได้แยกตัวออกจากคณะสงฆ์เดิม เนื่องจากจำนวนพระสงฆ์ในคณะเดิมมีมากกว่า คณะสงฆ์เดิมจึงมีชื่อเรียกว่า มหานิกาย แปลว่า พวกมาก ธรรมยุติกนิกาย แปลว่า พวกยึดธรรมเป็นหลัก ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระสงฆ์นิกายนี้ว่าพระธรรมยุต

     คณะสงฆ์ธรรมยุตก่อกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ผู้ก่อตั้งคือ พระวชิรญาณภิกขุ ต่อมาได้ลาผนวชแล้วขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 เหตุการณ์ช่วงธรรมยุติกนิกายถือกำเนิดขึ้นเป็นดังนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ได้ผนวชเป็นพระภิกษุ ใน พ.ศ.2367 ในรัชสมัยรัชกาลที่2 ได้ฉายานามในศาสนาว่า “พระวชิรญาณ” ประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นอุปัชฌาย์ ภายหลังจากที่ทรงผนวชได้ 15 วัน สมเด็จพระบรมชนกนาถคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคตโดยไม่ได้ดำรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติแก่ผู้ใด ว่ากันตามนิตินัยแล้วผู้มีสิทธิขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 2 ก็คือ พระวชิรญาณ (เจ้าฟ้ามงกุฎ) เพราะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสองค์ใหญ่อันกิดแต่พระอัครมเหสี แต่เนื่องจากพระวชิรญาณทรงตัดสินพระทัยที่จะผนวชต่อไป ที่ประชุมพระราชวงค์และเสนาบดีจึงถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ซึ่งเป็นพระองค์เจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ผู้เจริญพระชันษากว่าพระวชิรญาณถึง 17 ปี เมื่อกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 พระวชิรญาณได้ผนวชต่อไปจนสิ้นรัชกาลแล้วจึงลาผนวชออกไปขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4

ขณะประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุนั้น พระวชิรญาณทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ต่อมาได้ทรงเลื่อมใสในความเคร่งครัดวินัยของพระเถระชาวมอญรูปหนึ่งชื่อ ชาย พุทธวังโส (ขณะนั้นเป็นพระราชา  คณะที่ พระสุเมธมุนี) วัดบวรมงคล มีพระประสงค์จะปฏิบัติวินัยเคร่งครัดตามแบบอย่างพระมอญ จึงเสด็จย้ายจากวัดมหาธาตุไปประทับ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิราช) เมื่อ พ.ศ.2372 ทรงเข้ารับการอุปสมบทซ้ำ โดยมีพระสุเมธมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติจากพระสุเมธมุนีแล้วเผยแพร่การปฏิบัติเคร่งครัดวินัยแบบมอญ เมื่อมีผู้เคารพนับถือมากขึ้น ทรงประกาศตั้งคณะสงฆ์ใหม่ขึ้นเรียกว่า คณะธรรมยุติกนิกาย โดยกำหนดเอาการผูกพัทธสีมาใหม่ในวัดสมอราย เมื่อ พ.ศ. 2376 ให้เป็นการก่อตั้งคณะธรรมยุต ต่อมาใน พ.ศ.2379 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเทียบเท่ารองเจ้าคณะใหญ่แล้วเสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสครองวัดบวรนิเวศวิหาร

     พระวชิรญาณเถระเป็นเจ้าอาวาสครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ 14 ปี สร้างความเจริญให้กับธรรมยุติกนิกายแพร่หลายพอสมควรแล้ว ได้ลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 รวมเวลาที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้ 27 พรรษา

ใส่ความเห็น