Archive | 25/06/2012

กำเนิดธรรมยุติกนิกาย

     กำเนิดธรรมยุติกนิกาย คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายได้แยกตัวออกจากคณะสงฆ์เดิม เนื่องจากจำนวนพระสงฆ์ในคณะเดิมมีมากกว่า คณะสงฆ์เดิมจึงมีชื่อเรียกว่า มหานิกาย แปลว่า พวกมาก ธรรมยุติกนิกาย แปลว่า พวกยึดธรรมเป็นหลัก ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระสงฆ์นิกายนี้ว่าพระธรรมยุต

     คณะสงฆ์ธรรมยุตก่อกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ผู้ก่อตั้งคือ พระวชิรญาณภิกขุ ต่อมาได้ลาผนวชแล้วขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 เหตุการณ์ช่วงธรรมยุติกนิกายถือกำเนิดขึ้นเป็นดังนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ได้ผนวชเป็นพระภิกษุ ใน พ.ศ.2367 ในรัชสมัยรัชกาลที่2 ได้ฉายานามในศาสนาว่า “พระวชิรญาณ” ประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นอุปัชฌาย์ ภายหลังจากที่ทรงผนวชได้ 15 วัน สมเด็จพระบรมชนกนาถคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคตโดยไม่ได้ดำรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติแก่ผู้ใด ว่ากันตามนิตินัยแล้วผู้มีสิทธิขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 2 ก็คือ พระวชิรญาณ (เจ้าฟ้ามงกุฎ) เพราะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสองค์ใหญ่อันกิดแต่พระอัครมเหสี แต่เนื่องจากพระวชิรญาณทรงตัดสินพระทัยที่จะผนวชต่อไป ที่ประชุมพระราชวงค์และเสนาบดีจึงถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ซึ่งเป็นพระองค์เจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ผู้เจริญพระชันษากว่าพระวชิรญาณถึง 17 ปี เมื่อกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 พระวชิรญาณได้ผนวชต่อไปจนสิ้นรัชกาลแล้วจึงลาผนวชออกไปขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4

ขณะประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุนั้น พระวชิรญาณทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ต่อมาได้ทรงเลื่อมใสในความเคร่งครัดวินัยของพระเถระชาวมอญรูปหนึ่งชื่อ ชาย พุทธวังโส (ขณะนั้นเป็นพระราชา  คณะที่ พระสุเมธมุนี) วัดบวรมงคล มีพระประสงค์จะปฏิบัติวินัยเคร่งครัดตามแบบอย่างพระมอญ จึงเสด็จย้ายจากวัดมหาธาตุไปประทับ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิราช) เมื่อ พ.ศ.2372 ทรงเข้ารับการอุปสมบทซ้ำ โดยมีพระสุเมธมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติจากพระสุเมธมุนีแล้วเผยแพร่การปฏิบัติเคร่งครัดวินัยแบบมอญ เมื่อมีผู้เคารพนับถือมากขึ้น ทรงประกาศตั้งคณะสงฆ์ใหม่ขึ้นเรียกว่า คณะธรรมยุติกนิกาย โดยกำหนดเอาการผูกพัทธสีมาใหม่ในวัดสมอราย เมื่อ พ.ศ. 2376 ให้เป็นการก่อตั้งคณะธรรมยุต ต่อมาใน พ.ศ.2379 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเทียบเท่ารองเจ้าคณะใหญ่แล้วเสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสครองวัดบวรนิเวศวิหาร

     พระวชิรญาณเถระเป็นเจ้าอาวาสครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ 14 ปี สร้างความเจริญให้กับธรรมยุติกนิกายแพร่หลายพอสมควรแล้ว ได้ลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 รวมเวลาที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้ 27 พรรษา

การปกครองคณะสงฆ์สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ – ๔

      โครงสร้างการบริหารและการจัดองค์กรการปกครองคณะสงฆ์ตั้งแต่สมัยธนบุรีถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ยังคงถือตามแบบอย่างการปกครองคณะสงฆ์ในสมัยอยุธยา สิ่งที่พิเศษควรกล่าวถึงคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงตรากฏหมายเกี่ยวกับคณะสงฆ์เป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ กฏหมายคณะสงฆ์ในรัชกาลที่ 1 นี้มีจำนวน 10 ฉบับ วัตถุประสงค์ของการออกกฏหมายนี้ก็เพื่อควบคุมความประพฤติของพระสงฆ์ให้ปฏิบัตเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย ไม่มีกฎหมายฉบับใดกล่าวพาดพิงถึงการจัดโครงสร้างการบริหาร และการปกครองคณะสงฆ์

     การออกกฎหมายในสมัยนั้นแตกต่างจากวิธีปฏิบัติในปัจจุบัน พระดำรัสของรัชกาลที่1 ถึอเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ทันที กฎหมายคณะสงฆ์ที่ทรงตราบังคับใช้ไม่มีมาตรา ไม่มีบทหรือตอน เป็นแต่ข้อรับสั่งห้ามพระภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นเช่นนี้ ขอให้ดูตัวอย่างกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับที่ 6 ซึ่งประกาศใช้ใน พ.ศ. 2326 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

      “ห้ามมิให้ภิกษุสามเณรสงเคราะห์ฆราวาสให้ผลไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เป็นต้น อย่าให้ผสมผสาน ขอกล่าวป่าวร้องเรี่ยไรสิ่งของอันเป็นของฆราวาสอันมิใช่ญาติ และห้ามอย่าให้เป็นฑูตใช้สอยข่าวสาส์น และห้ามบรรดาการทั้งปวงอันผิดจากพระปาฏิโมข์สังวรวินัย”

     ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในโครงสร้างการปกครองสงฆ์ กล่าวคือ ในโครงสร้างเดิมที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คณะสงฆ์แบ่งการปกครองออกเป็น 3 คณะ คือ

          1. คณะคามวาสีฝ่ายซ้าย ปกครองคณะสงฆ์หัวเมืองภาคเหนือ

          2. คณะอรัญวาสี ปกครองพระนักปฏิบัติธรรมทั่วราชอาณาจักร

          3. คณะคามวาสีฝ่ายขวา ปกครองคณะสงฆ์หัวเมืองภาคใต้

     การเปลี่ยนแปลงประการแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็คือเปลี่ยนชื่อเรียกคณะคามวาสีฝ่ายซ้ายซึ่งรับผิดชอบในกิจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองภาคเหนือเป็น คณะเหนือ และ เปลี่ยนชื่อเรียกคณะคามวาสีฝ่ายขวาซึ่งรับผิดชอบกิจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองภาคใต้เป็น คณะใต้ การเปลี่ยนแปลงประการต่อมาก็คือ มีการรวมพระอารามหลวงและวัดราษฎร์บางส่วนในกรุงเทพมหานครเข้าด้วยกันแล้วตั้งเป็นคณะใหม่ เรียกว่า คณะกลาง ดังนั้นการปกครองคณะสงฆ์ในรัชกาลที่ 3 จึงแบ่งการปกครองออกเป็น 4 คณะ คือ

          1. คณะเหนือ (เดิมคือคามวาสีฝ่ายซ้าย)

          2. คณะใต้ (เดิมคามวาสีฝ่ายขวา)

          3. คณะกลาง (เพิ่มเข้ามาใหม่)

          4. คณะอรัญวาสี

     เพราะมีคณะสงฆ์เพิ่มขึ้น ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ผู้บังคับบัญชาคณะทั้ง 4 จึงเพิ่มขึ้นเป็น 4 ตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่แต่ละรูปมีอำนาจการปกครองดูแลกิจการคณะสงฆ์ในคณะของตน อย่างไรก็ดี เจ้าคณะใหญ่ทุกรูปต้องขึ้นตรงต่อสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นประมุขสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร คณะสงฆ์จึงยังคงมีเอกภาพเพราะรวมกันอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชองค์เดียวกัน

     ในสมัยรัชกาลที่ 3 คณะอรัญวาสีมีเพียงตำแหน่งเจ้าคณะโดยไม่มีวัดในการปกครองบังคับบัญชา ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ยุบคณะอรัญวาสี  คงไว้แต่ตำแหน่งเจ้าคณะ คือสมเด็จพระพุฒาจารย์

     ในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้มีนิกายสงฆ์ใหม่ชื่อว่า ธรรมยุติกนิกาย ถือกำเนิดขึ้นมาและพยายามแยกคณะเป็นอิสระจากคณะทั้ง 4 แต่กระนั้นก็ดี คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายยังรวมอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าคณะกลางตลอดสมัยรัชกาลที่ 3 จนสิ้นรัชกาลที่ 4

     ในสมัยรัชกาลที่ 4 โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ยังคงเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างก็คือการเจริญเติบโตของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายที่มีอิสระในการบริหารกิจการคณะของตน เจ้าคณะธรรมยุตในสมัยนั้นคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธ์ มีตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะกลางก็จริงแต่มีสิทธิ์ขาดในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายโดยปราศจากการแทรกแซงของเจ้าคณะกลางในสมัยนั้นอันได้แก่ สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส

     เนื่องจากการกำเนิดและพัฒนาการของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายมีผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและฐานอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน เราจึงแยกศึกษาการกำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก