Archive | 19/06/2012

สมณศักดิ์กับการปกครองคณะสงฆ์

     ระบบสมณศักดิ์มีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตำแหน่งผู้ปกครองคณะสงฆ์ ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์สูงมักดำรงตำแหน่งปกครองระดับสูงในองค์กรปกครองคณะสงฆ์ เช่น ในสมัยอยุธยาพระพุทธาจารย์เป็นเจ้าคณะอรัญวาสี พระวันรัต (วัดป่าแก้ว) เป็นเจ้าคณะคามวาสีฝ่ายขวา คำว่า “พระพุทธาจารย์” และ “พระวันรัต” เป็นสมณศักดิ์ ดังนั้น เพื่อความเข้าใจโครงสร้างอำนาจบังคับบัญชาการปกครองคณะสงฆ์ เราควรศึกษาระบบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์

     สมณศักดิ์ คือ “ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด” สมณศักดิ์เป็นฐานันดรศักดิ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ตั้งถวายเฉพาะพระสงฆ์ เทียบได้กับลำดับแห่งยศบรรดาศักดิ์ เช่น ขุน หลวง พระ พระยา ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งข้าราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้ว่าระบบฐานันดรศักดิ์ของข้าราชการจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ระบบฐานันดรศักดิ์ของพระสงฆ์ยังคงใช้กันอยู่เรื่อยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน

     การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระราชทินนามถวายเป็นสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์นั้น เป็นราชประเพณีที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยที่นับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติราชประเพณีนี้เริ่มถือปฏิบัติกันที่ประเทศลังกาเป็นแห่งแรกเพราะมีหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือรามัญสมณวงศ์ว่า

     “พ.ศ. 2108 (ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา) พระเจ้ารามาธิบดี กรุงหงสาวดี มีพระราชประสงค์จะรวมพระสงฆ์ในรามัญประเทศซึ่งแตกต่างลัทธิกันอยู่เป็นหลายพวกให้เป็นนิกายเดียวกัน จึงส่งพระเถระเมืองหงสาวดีออกไปบวชแปลงที่เมืองลังกา เมื่อพระภูวเนกพาหุพระเจ้ากรุงลังกาทรงจัดการให้พระมอญเหล่านั้นได้บวชแปลงสมปรารถณาเสร็จแล้ว มีรับสั่งแก่พระเถระเหล่านั้นว่าการที่พระราชทานไทยธรรมต่างๆ ถึงจะมากมายเท่าใดก็จะไม่ปรกกฏพระเกียรติยศถาวรเท่าพระราชทานนามบัญญัติ เพราะไทยธรรมทั้งหลายย่อมอาจจะพลัดพรากหายสูญไปได้ แต่ส่วนราชทินนามน้ันย่อมจะปรากฏถาวรอยู่ตลอดอายุขัยของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย มีรับสั่งดังนี้แลัวจึงพระราชทานนามแก่พระมอญที่ไปบวชแปลง 22 รูป คือ ตั้งพระโมคคัลลานะเถระให้มีพระนามว่า พระสิริสังฆโพธิสามี พระมหาสีวลีเถระให้มีนามว่า พระติโลกคุรุสามี เป็นต้น”

     ข้อนี้แสดงว่าราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระราชทินนามเป็นสมณศักดิ์ถวายพระสงฆ์มีมานานแล้วในประเทศลังกาก่อนที่จะแพร่หลายไปสู่ประเทศต่างๆที่รับเอาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์เป็นแม่แบบของการสถาปนาและปรับปรุงคณะสงฆ์ สำหรับประเทศไทยนั้น ระบบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์เริ่มใช้ตั้งแต่รัชสมัยพระหมาธรรมราชาลิไทย พระองค์ได้โปรดให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชมาแต่ลังกาเพื่อให้ประกาศพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในกรุงสุโขทัย พระมหาสามีสังฆราชคงจะได้ถวายพระพรไห้พระมหาธรรมราชาลิไทยทรางตั้งสมณศักดิ์ถวายแต่พระสงฆ์ตามราชประเพณีที่ถือปฏิบัติในประเทศลังกา ระบบสมณศักดิ์สมัยสุโขทัยไม่สลับซับซ้อนเพราะมีเพียง 2 ระดับชั้นเท่านั้น คือ พระสังฆราช และพระครู ส่วนในสมัยอยุธยาระบบสมณศักดิ์ได้รับการปรับให้มีระดับชั้นเพิ่มขึ้นโดยเรียงลำดับจากชั้นสูงสุดลงมาดังนี้

          1.สมเด็จพระสังฆราช

          2.พระสังฆราชาคณะหรือพระราชาคณะ

          3.พระครู

     ในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลปัจจุบัน ระบบสมณศักดิ์ที่ยังใช้อยู่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ระดับชั้นของสมณศักดิ์แบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกันคือ

     1. พระราชาคณะ หมายถึง ตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นชั้นที่เรียกกันว่า “เจ้าคุณ” เรียงลำดับจากชั้นสูงสุดลงไปดังนี้

          1.1 สมเด็จพระราชาคณะ

          1.2 รองสมเด็จพระราชาคณะ (ชั้นพรหม)

          1.3 พระราชาคณะชั้นธรรม

          1.4 พระราชาคณะชั้นเทพ

          1.5 พระราชาคณะชั้นราช

          1.6 พระราชาคณะชั้นสามัญ

     2. พระครู ได้แก่ พระครูสัญญาบัตรที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพร้อมกับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศเรียงลำดับจากชั้นสูงสุดลงไปดังนี้

          2.1 พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ

          2.2 พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก

          2.3 พระครูสัญญาบัตรชั้นโท

          2.4 พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี

     3. พระฐานานุกรม คือ สมณศักดิ์นอกทำเนียบที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชานุญาติให้พระราชาคณะตั้งพระสงฆ์ด้วยกันเป็นพระฐานานุกรม เพื่อประดับเกียรติยศได้ตามฐานานุศักดิ์ของพระราชาคณะชั้นนั้นๆ มีหลายชั้น เช่น พระครูปลัด พระครูสมุห์ พระครูใบฎีกา

     4. พระครูประทวน ได้แก่ ตำแหน่งพระครูที่ทางคณะสงฆ์ได้ขอให้พระราชทานแต่งตั้งพระสงฆ์ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและพระศาสนา พระครูชั้นนี้ไม่มีสร้อยพระราชทินนามต่อท้าย มีแต่คำว่า “พระครู” นำหน้าชื่อตัว เช่น พระภิกษุบุญธรรม ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูประทวน จะมีนามว่า “พระครูบุญธรรมไ พระครูชั้นนี้ ได้รับเพียงใบประกาศแต่งตั้งเท่านั้น ไม่ได้รับพระราชทานพัดยศเหมือนพระครูสัญญาบัตร

     ระดับชั้นของสมณศักดิ์ดังกล่าวมา เทียบได้กับลำดับชั้นของยศบรรดาศักดิ์ที่พระมหากษัตริย์ทรางพระราชทานแก่ข้าราชการฆราวาส ดังนี้

          พระราชาคณะชั้นสามัญ : ขุน

          พระราชาคณะชั้นราช : หลวง

          พระราชาคณะชั้นเทพ : พระ

          พระราชาคณะชั้นธรรม : พระยา

          รองสมเด็จพระราชาคณะ : เจ้าพระยา

          สมเด็จพระราชาคณะ : สมเด็จเจ้าพระยา

     ระดับชัันของสมณศักดิ์มีความสัมพันธ์แบบคู่ขนานกับลำดับชั้นของตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ นั่นก็คือพระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์สูงมักเป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์ระดับสูงทั้งนี้เพราะระเบียบเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บริหารคณะสงฆ์ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดระดับชั้นสมณศักดิ์เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของผู้มีสิทธิได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการผู้ปกครองคณะสงฆ์ เช่น พระภิกษุผู้จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกในกรุงเทพมหานครต้องมีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นราช เจ้าคณะจังหวัดเกือบทุกจังหวัดมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญขึ้นไป เจ้าคณะภาคมีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นเทพ พระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่ง

     ดั้งนั้น พระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์จึงเป็นกำลังสำคัญในองค์กรบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั่วประเทศ เนื่องจากสมณศักดิ์เป็นยศที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานแก่พระสงฆ์ฝ่ายอาณาจักรจึงสมารถอาศัยระบบสมณศักดิ์นี้สร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับฝ่ายศาสนจักรเป็นอย่างดีนับแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน