Archive | กันยายน 2012

การปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน

การจัดการโครงสร้างการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 การตราพระราชบัญญัติฉบับนี้เกิดจากความต้องการของรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มุ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับนโยบายการปกครองประเทศของจอมพลสฤษดิ์ ที่นิยมการรวบอำนาจการติดสินใจเด็ดขาดไว้กับผู้นำที่เข้มแข็ง จอมพลสฤษด์เห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดให้มีการถ่วงดุลอำนาจกันนั้นนำมาซึ่งความล่าช้าและความขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงเห็นว่าการแยกอำนาจบัญชาการคณะสงฆ์ออกเป็น 3 ทางคือ สังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เป็นระบบที่มีผลบั่นทองประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการคณะสงฆ์ให้ต้องประสบอุปสรรคและล่าช้า
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้นใน พ.ศ. 2503 เมื่อคณะกรรมการทำงานสำเร็จ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
“โดยที่การจัดดำเนินกิจการคณะสงฆ์ มิใช่กิจการอันแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการถ่วงดุลอำนาจเช่นที่เป็นอยู่ตามกฎหมายในปัจจุบันและโดยระบบเช่นว่านั้นเป็นผลบั่นทองประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการจึงสมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ ให้สมเด็จพระสังฆราชองค์สกลมหาสังฆปรินายกทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถระสมาคม ตามอำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย ทั้งนี้เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา”
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 พอสรุปได้ดังนี้
1. ยกเลิกพระราชบัญญัติ พ.ศ.2484 ซึ่งหมายรวมถึงการยกเลิกสังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ส่วนอำนาจที่องค์กรทั้งสามเคยเป็นผู้ใช้แยกจากกันให้สมเด็จพระสังฆราชและมหาเถระสมาคมเป็นผู้ใช้
2. ผลที่ตามมาก็คือ การยกเลิกตำแหน่งประธานสังฆสภา สังฆนายก และประธานคณะวินัย.ธร อำนาจหน้าที่ของตำแหน่งทั้งสามถูกรวมกันเข้าและมอบให้ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นผู้ใช้
3. อำนาจสูงสุดในการบังคับบัญชาคณะสงฆ์เป็นของสมเด็จพระสังฆราช ผู้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ใน 2 ตำแหน่ง คือ
3.1 โดยตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก หรือประมุขสงฆ์ไทย ทรงบัญชาการคณะสงฆ์เอง และทรงรับผิดชอบ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 และ
3.2 โดยตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมทรงบัญชาการคณะสงฆ์ร่วมกับมหาเถรสมาคม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 และมาตรา 18
4.มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย
4.1 สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
4.2 สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ปัจจุบันมีสมเด็จพระราชาคณะทั้งสิ้น 6 รูป
4.3 พระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสี่รูปและไม่เกินแปดรูปเป็นกรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี ตามปกติสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งกรรมการครบทั้ง 8 รูป    จึงทำให้จำนวนกรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละชุดมี 15 รูป อันประกอบด้วย

สมเด็จพระราชาคณะ 6 รูป กรรมการทีสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง 8 รูป และสมเด็จพระสังฆราชในฐานะประธานกรรมการ
5. อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 มีความว่า
“มาตรา 18 มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เพื่อการนี้ ให้มีอำนาจตรากฎหมายมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ หรือออกคำสั่งโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้”
จะเห็นได้ว่า อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมตามมาตรานี้มีความหมายกว้างขวางมาก เพราะถ้าพิจารณาเทียบเคียงกับอำนาจหน้าที่ของสังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ตามที่บัญญัติแยกอำนาจกันไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 แล้วจะพบว่าอำนาจหน้าที่ต่างๆ ทั้ง 3 ส่วนนั้นได้รวมกันเป็นอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธรในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ได้รวมกันเป็นมหาเถรสมาคมในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
ฉะนั้น อำนาจหน้าที่ “ปกครองคณะสงฆ์” ของมหาเถรสมาคมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 นี้ จึงมิได้หมายถึงเฉพาะอำนาจหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์ของคณะสังฆมนตรีเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงอำนาจหน้าที่ตราสังฆาณัติของสังฆสภา และอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ของคณะวินัยธรชั้นฎีกาอีกด้วย
รายละเอียดการใช้อำนาจทั้งสามส่วนของมหาเถรสมาคม เป็นดังนี้
5.1 อำนาจนิติบัญญัติของมหาเถรสมาคม ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่ของสังฆสภา มหาเถรสมาคมจึงมีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนี้
5.1.1 ตรากฎหมายมหาเถรสมาคม
5.1.2 ออกข้อบังคับมหาเถรสมาคม                                                                                                                                                                                                                                                                       5.1.3 วางระเบียบมหาเถรสมาคม
5.1.4 ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม
5.2 อำนาจบริหารของมหาเถรสมาคม โดยที่อำนาจการปกครองและบริหารกิจการคณะสงฆ์ของคณะสังฆมนตรีเดิมได้ตกเป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมจึงมีอำนาจหน้าที่ด้านการบริหารดังต่อไปนี้
5.2.1 จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์
5.2.2 จัดแบ่งเขตการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค
5.2.3 จัดตำแหน่งผู้ปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค
5.2.4 แต่งตั้งและถอดถอนผู้ปกครองคณะสงฆ์
เนื่องจากปริมาณงานในความรับผิดชอบของมหาเถรสมาคมมีมากเกินกว่าที่กรรมการมหาเถรสมาคมจะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มหาเถรสมาคมได้ออก กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 1 พ.ศ.2506 ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม ให้อำนาจมหาเถรสมาคมแต่งตั้งคณะกรรมการหรืออนุกรรมการช่วยงานมหาเถรสมาคม ในลักษณะเดียวกันกับกรรมการเฉพาะกิจเป็นกรรมการประจำหรือชั่วคราวก็ได้ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการหรืออนุกรรมการนี้ กรรมการมหาเถรสมาคมรูปใดรูปหนึ่งเป็นประธานโดยตำแหน่ง คณะการรมการหรืออนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม ในปัจจุบันมีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งหลายคณะ เช่น
– คณะกรรมการการศึกษาของสงฆ์
– คณะกรรมการอำนวยการพระธรรมทูต
– คณะอนุกรรมการร่างกฎมหาเถรสมาคม
– คณะอนุกรรมการร่างกฎนิคหกรรม
– คณะอนุกรรมการศูนย์ควบคุมไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณร (ศตก)
– คณะอนุกรรมการจัดตั้งทุนสาธารณสงเคราะห์และศึกษาสงเคราะห์
ส่วนการจัดระเบียบการปกกรองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคเป็นไปตามความในมาตรา 22 และ 23 ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่กำหนดตำแหน่งพระสังฆาธิการ หรือผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับชั้น ดังต่อไปนี้
– เจ้าคณะภาค
– เจ้าคณะจังหวัด
– เจ้าคณะอำเภอ
– เจ้าคณะตำบล
– เจ้าอาวาส
มีข้อน่าสังเกตว่า ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ 4 ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง และเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย เคยรวมกันเป็นมหาเถรสมาคมตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ต่อมาตำแหน่งทั้ง 4 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ทั้งนี้เพื่อรวมคณะสงฆ์มหานิกายกับคณะธรรมยุติกนิกายเข้าด้วยกัน ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ไม่มีมาตราใดกล่าวถึงตำแหน่งเจ้าคณะทั้ง 4 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในการจัดองค์กรการปกครองคณะสงฆ์ปัจจุบัน ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 ยังคงมีอยู่ และนั่นก็หมายถึงว่า คณะสงฆ์มหานิกายกับคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายยังแยกกันปกครอง
อย่างเป็นอิสระจากกันภายใต้รัฐบาลสงฆ์เดียวกัน คือ มหาเถรสมาคมคณะสงฆ์ไทยจึงเปรียบเหมือนกับมังกรที่มีสองตัว แต่มีหัวเดียว
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 คณะสงฆ์มหานิกายและคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย มีองค์กรปกครองสูงสุดร่วมกัน คือ มหาเถรสมาคม กรรมการมหาเถรสมาคมครึ่งหนึ่งมาจากคณะมหานิกาย และที่หลืออีกครึ่งหนึ่งมาจากคณะธรรมยุติกนิกาย ทั้งหมดรวมกันเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ตามกฎหมาย ดังนั้น ในระดับมหาเถรสมาคม เป็นการปกครองร่วมกันโดยถือนโยบายเดียวกันแต่แยกกันปกครองในระดับต่ำกว่ามหาเถรสมาคม ดังจะเห็นได้จากกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2506 ว่า ด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ข้อ 4 มีความว่า
“การปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนทุกชั้น ให้มีเจ้าคณะมหานิกายและเจ้าคณะธรรมยุติปกครองบังคับบัญชาวัดและพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้นๆ”
ข้อนี้หมายความว่า ในขณะที่คณะสงฆ์มหานิกายแบ่งสายการปกครองบังคับบัญชาเป็น เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลและเจ้าอาวาส ฝ่ายมหานิกายปกครองดูแลกิจการคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายก็แบ่งสายการปกครองทุกตำแหน่งตั้งแต่เจ้าคณะภาคถึงเจ้าอาวาสฝ่ายธรรมยุตปกครองดูแลกิจการคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตคู่ขนานกันไป
แม้ว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 จะไม่ได้กล่าวถึงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 ไว้ แต่กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2506 ข้อ 6 ได้เพิ่มตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 เข้ามาในองค์กรการปกครองคณะสงฆ์ เจ้าคณะใหญ่ปกครองบังคับบัญชาเจ้าคณะภาค แบ่งออกเป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายมหานิกายและเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุต มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดในคณะสงฆ์แต่ละนิกาย ในสายการบังคับบัญชาเจ้าคณะใหญ่ยังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม แต่ในทางปฏิบัติเจ้าคณะใหญ่มักเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมอีกตำแหน่งหนึ่ง เจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 มีเขตการปกครองดังนี้

(1) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 1 2 3 13 14 และ 15
(2) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 4 5 6 และ 7
(3) เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 16 17 และ 18
(4) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 8 9 10 11 และ 12
(5) เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ปฏิหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตทุกภาค
5.3 อำนาจตุลาการของมหาเถรสมาคม การพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์หรือคดีความในคณะสงฆ์ซึ่งเดิมเคยเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะวินัยธร ได้ตกเป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมตามความพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 25 ที่บัญญัติให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากำหมายเถรสมาคมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเพื่อให้การลงนิคหกรรมหรือการลงโทษเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม มหาเถรสมาคมอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตรากฎหมายเถรสมาคม ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2521 ว่าด้วยการลงนิคหกรรม กฎมหาเถรสมาคมนี้แบ่งอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ออกเป็น 3 ชั้น คือ
5.3.1 การพิจารณาชั้นต้น เป็นอำนาจของเจ้าอาวาสวัด ที่พระภิกษุผู้ถูกฟ้องสังกัดอยู่ ถ้าผู้ถูกฟ้องเป็นเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะก็ให้เป็นอำนาจของเจ้าคณะหรือผู้ปกครองคณะสงฆ์เหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง
5.3.2 การพิจารณาชั้นอุทธรณ์ เป็นอำนาจของคณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะหรือผู้ปกครองเหนือชั้นขึ้นไปกว่าเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะผู้พิจารณาในชั้นต้น
5.3.3 การพิจารณาชั้นฎีกา เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมในการลงนิคหกรรมไม่ว่าในกรณีใดให้เป็นอันถึงที่สุดในกรณีนี้ มหาเถรสมาคมมีอำนาจเช่นเดียวกับคณะวินัยธรชั้นฎีกา แต่มหาเถรสมาคมมีอำนาจมากว่าคณะวินัยธรชั้นฎีกาตรงที่ มีอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารอยู่ในมือด้วย และในบางกรณีมหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยหรือออกคำสั่งโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ว่า
“มาตรา 27 พระภิกษุใดต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้นหรือประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ หรือไม่สังกัดอยู่วัดใดวัดหนึ่ง กับทั้งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

มหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
พระภิษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามความในวรรคก่อนต้องสึกภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น”
มาตรม 42 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคสอง คือ ไม่ยอมสึกภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน
6. ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรและอาณาจักรการที่ฝ่ายรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ออกบังคับใช้ได้เป็นประจักษ์พยานอย่างดีที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักรด้วยการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ รัฐบาลได้ชื่อว่าให้การอุปถัมภ์แก่คณะสงฆ์ ทั้งนี้เพราะคณะสงฆ์ไม่มีอำนาจลงโทษพระภิกษุผู้ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยขั้นร้ายแรงและไม่ยอมสละสมณเพศ หากคณะสงฆ์ปล่อยไว้ย่อมจะนำความเสื่อมเสียมาสู่วงการคณะสงฆ์ ในกรณีนี้คณะสงฆ์จำต้องพึ่งพิงอำนาจรัฐเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับพระธรรมวินัย ดังจะเห็นได้จากมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่อ้างถึงมาแล้ว และมาตรา 44 ที่ว่า
“ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์ไทย อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ”
ก็แสดงถึงการที่คณะสงฆ์ไทยได้รับการคุ้มครองป้องกันจากอำนาจรัฐ
แม้ว่ามหาเถรสมาคมมีอำนาจปกครองคณะสงฆ์อย่างเต็มที่ แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าคณะสงฆ์มีอิสระจากการควบคุมของกลไกของรัฐ อำนาจฝ่ายรัฐสามารถตรวจสอบและควบคุมการบริหารกิจการคณะสงฆ์ได้ตลอดเวลาในนามของการอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา ดังจะเห็นได้จากข้อความบางมาตราแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ดังต่อไปนี้
(1) พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชผู้ทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง (มาตรา 7 และ 9)
(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนามสมเด็จพระสังฆราช ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง (มาตรา 10)
(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการสร้างวัด การบริหารศาสนสมบัติของวัด และวางระเบียบการปกครองคณะสงฆ์จีนนิกายและอนัมนิกาย (มาตรา 6 32 40 และ 46)
(4) ในการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช (มาตรา 19)สมาคมโดยตำแหน่ง และกรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มาตรา 13)
(5) กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรและอาณาจักร ทั้งนี้เพราะอธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

เขตการปกครองคณะสงฆ์ทั้ง 18 ภาค ประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ ดังนี้

ภาค 1  มี 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

ภาค 2  มี 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสระบุรี

ภาค 3  มี 4 จังหวัด คือ ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และอุทัยธานี

ภาค 4  มี 4 จังหวัด คือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร  พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาค 5  มี  4 จังหวัด คือ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก และอุตรดิตถ์

ภาค 6  มี 5 จังหวัด คือ ลำปาง พะเยา เชียงราย แพร่ และน่าน

ภาค 7  มี 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน

ภาค 8  มี 4 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย เลย และสกลนคร

ภาค 9  มี 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด

ภาค10 มี 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ยโสธร มุกดาหาร ศรีสะเกษ และนครพนม

ภาค11 มี 4 จังหวัด คือ นครราสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ภาค12 มี 3 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา

ภาค13 มี 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาค14 มี 4 จังหวัด คือ นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และสมุทรสาคร

ภาค15 มี 4 จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์

ภาค16 มี 3 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร

ภาค17 มี 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต ตรัง พังงา กระบี่ และระนอง

ภาค18 มี 6 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

การปกครองคณะสงฆ์สมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๘

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2477 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติทางรัฐสภา ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้านการบริหารทางคณะรัฐมนตรี และการใช้อำนาจอธิปไตยด้านตุลาการทางศาล การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของฝ่ายอาณาจักรครั้งนี้เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดองค์กรปกครองคณะสงฆ์

เนื่องจากคณะรัฐบาลในสมัยนั้นต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงเห็นความจำเป็นที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ให้มีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยด้วย รัฐบาลจึงได้ดำเนินการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นธรรมนูญการปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ที่ออกมาแทนที่พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ให้ประชาชนทราบ มีความตอนหนึ่งว่า

“พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ได้รับความเห็นชอบของคณะสงฆ์ และได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วโดยราบรื่นความสำคัญในพระราชบัญญัติก็คือ ได้จัดการปกครองคณะสงฆ์ให้อนุโลมระบอบการปกครองบ้านเมืองเท่าที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย”

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดับนี้

พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชผู้ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก แต่สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยลำพังพระองค์เองไม่ได้ พระองค์ทรงบัญญัติสังฆาณัติโดยคำแนะนำของสังฆสภา ทรงบริหารคณะสงฆ์ทางสังฆมนตรี และทรงพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร

อำนาจการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์ถูกแบ่งเป็น 3 ฝ่าย เพื่อการถ่วงดุลอำนาจตามแบบอย่างการปกครองของฝ่ายบ้านเมือง อำนาจทั้งสามนั้น คือ อำนาจนิติบัญญัติที่เรียกว่า สังฆาณัติ อำนาจบริหารการคณะสงฆ์และอำนาจตุลาการหรือที่เรียกว่าอำนาจวินิจฉัยอธิกรณ์องค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งสามโดยตรง ได้แก่
ก. สังฆสภา สังฆสภาเทียบได้กับรัฐสภาของฝ่ายบ้านเมือง มีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติสังฆาณัติหรือกฎระเบียบสำหรับใช้ในการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์ สังฆสภาประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 45 รูปอันได้มาจาก 1. พระเถระที่มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นธรรมขึ้นไป 2. พระคณาจารย์เอก 3. พระเปรียญเอก
ข. คณะสังฆมนตรี คณะสังฆมนตรีเทียบได้กับคณะรัฐมนตรีของฝ่ายอาณาจักร คือทำหน้าที่เป็นคณะรัฐบาลบริหารกิจการคณะสงฆ์ คณะสังฆมนตรีประกอบด้วยสังฆนายก (เทียบได้กับนายกรัฐมนตรี) และสังฆมนตรีอื่นไม่เกิน 9 รูป คณะสังฆมนตรีแบ่งงานภายใต้ความรับผิดชอบออกเป็น 4 องค์การ อันเทียบได้กับกระทรวง แต่ละองค์การมีสังฆมนตรีว่าการและสังฆมนตรีช่วยว่าการเป็นผู้ปกครองดูแลรับผิดชอบ องค์การทั้งสี่ได้แก่
1. องค์การปกครอง
2. องค์การศึกษา
3. องค์การเผยแผ่
4. องค์การสาธารณูปการ
การปกครองบังคับบัญชาคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคเป็นไปตามสังฆาณัติที่กำหนดให้ มีตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสปกครองบังคับบัญชาลดหลั่นกันไปตามลำดับ
ค. คณะวินัยธร คือ ศาลของพระสงฆ์นั่นเอง มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีความหรืออธิกรณ์ ตีความกฎหมาย สังฆาณัติและระเบียบคณะสงฆ์ต่างๆ คณะวินัยธรแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกา
แม้ว่าคณะสงฆ์จะมีรูปแบบการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ใช่ว่าคณะสงฆ์จะดำเนินการปกครองตนเองได้อย่างอิสระปราศจากการแทรกแซงและการควบคุมของรัฐ ความสัมพันธ์กับฝ่ายบ้านเมืองยังคงมีอยู่โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งคณะสังฆมนตรี ประธานและรองประธานสังฆสภา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามรับสนองพระบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติมีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ยังมีอำนาจกำหนดวันเปิดประชุมสังฆสภาและเสนอเรียกประชุมสังฆสภาสมัยวิสามัญ
มีข้อน่าสังเกตว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ได้ยกเลิกมหาเถรสมาคม อันประกอบด้วยเจ้าคณะใหญ่ทั้ง 4 รูป และรองเจ้าคณะใหญ่ 4 รูป ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ซึ่งรวมถึงเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกายจึงไม่มีกฎหมายรองรับ วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็เพื่อรวมคณะสงฆ์มหานิกายและคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเข้าด้วยกัน ภายในเวลา 8 ปี นับแต่วันประกาศใช้ ดังที่บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 60 ว่า

“ก่อนที่จะสังคายนาพระธรรมวินัยให้ครบถ้วน แต่อย่างช้าต้องไม่เกินแปดปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ออกสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช กฎกระทรวงหรือระเบียบใดที่จะบังคับให้ต้องเปลี่ยนลัทธิอันได้นิยมนับถือและปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน”

การรวมนิกายสงฆ์ทั้งสองเข้าด้วยกันประสบความล้มเหลว และคณะสงฆ์นิกายทั้งสองได้แตกแยกกันมากขึ้น ดังมีผู้บันทึกไว้ว่า

“ได้มีการตั้งกรรมการสังคายนาขึ้นคณะหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2486 เพื่อดำเนินการตามมาตรา 60 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็เพื่อดำเนินการปรับปรุงรวม 2 นิกายให้เข้าเป็นอันเดียวกัน ตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์นั้น ปรากฏว่ากรรมการแต่ละนิกายได้มีความเห็นขัดแย้งกันเป็นอย่างมากไม่อาจตกลงกันได้ ยิ่งประชุมก็ยิ่งทวีความรุนแรงร้าวรานจนถึงต่างเกิดความเบื่อหน่ายต้องหยุด เลิกกันไป
อนึ่ง เมื่อได้มีสังฆสภาขึ้นแล้วในขั้นแรกได้มีสมาชิกไปเข้าประชุมทั้ง 2 นิกายโดยมาก แต่ปรากฏว่าการประชุมเป็นไปในทางไม่สงบมากขึ้น ผู้นอ้ยได้โต้เถียงจะเอาชนะผู้ใหญ่และการโต้เถียงกันระหว่างนิกายทวีความรุนแรงร้าวรานยิ่งขึ้น จนต่อมาพระผู้หนักในพระธรรมวินัยทั้ง 2 นิกายเบื่อหน่ายและไม่ปรารถนาไปประชุมเพื่อโต้เถียงวิวาทกันเองจึงมีสมาชิกเข้าประชุมเป็นส่วนน้อย โดยเฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ไม่เข้าประชุมเป็นส่วนมาก สังฆาณัติโดยมากจึงเป็นไปตามความคิดเห็นของสมาชิกผู้น้อยหมู่หนึ่งโดยมากเป็นศิษย์และอยู่ในการปกครอง”

เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวมา ความพยายามเพื่อจะรวมนิกายสงฆ์ทั้งสองจึงไม่ประสบผลสำเร็จตลอดเวลา 20 ปีที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มีผลใช้บังคับมีแต่จะสร้างความแตกแยกในวงการคณะสงฆ์มากยิ่งขึ้นจนรัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่าความแตกสามัคคีได้บั่นทอนประสิทธิภาพในการบริหารกิจการคณะสงฆ์และความแตกแยกนี้เกิดขึ้นเพราะมีการแบ่งแยกอำนาจการปกครองเพื่อถ่วงดุลกันตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจึงถือเป็นความชอบธรรมในการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 และประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505